ราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynacty) (ค.ศ.320-ค.ศ.535)
ราชวงศ์เริ่มแรกของอารยธรรมอินเดียสมัยกลางคือ ราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynacty) ราชวงศ์นี้เป็นราชวงศ์ของชาวอินเดียที่พยายามขึ้นมามีอำนาจแทนราชวงศ์กุษาณะ ทั้งนี้เนื่องจากพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 1 แห่งแคว้นมคธได้สถาปนาพระองค์เป็นผู้ครอบครองบริเวณลุ่มแม่น้ำคงคาและสามารถขับไล่พวกกุษาณะออกไป ทรงขยายอาณาจักรออกไปจากแคว้นอัสสัมทางตะวันออกจนถึงที่ราบปัญจาบ พระองค์ทรงมีพระประสงค์จะสร้างจักรวรรดิให้ใหญ่เท่าในสมัยราชวงศ์โมริยะ ราชวงศ์คุปตะมีความเจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจมากที่สุดในสมัยพระเจ้าจันทรคุปต์ที่2 (ค.ศ.375-ค.ศ.415) พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นี้ส่วนใหญ่จะรู้จักในนาม"พระเจ้าวิกรมาทิตย์"หรือ"พระเจ้าจันทรคุปต์วิกรมาทิตย์"สมัยของพระแงค์นับว่าเป็นยุคทองของอารยธรรมอินเดีย (Golden Age of India Civilization) กล่าวคือ อารยธรรมอินเดียมีความเจริญสูงสุดในทุกด้าน เช่น ปรัชญา ศาสนาและความเชื่อ วรรณคดี ศิลปะ รวมทั้งวิทยาการสาขาต่างๆ
ด้านการปกครอง ราชวงศ์คุปตะมีเมืองหลวงอยู่ที่ปาฏลีบุตร สมัยนี้ได้นำรูปแบบการปกครองสมัยราชวงศ์โมริยะมาใช้ในการปกครองอาจักร คือ ส่งข้าหลวงออกไปปกครองตามแคว้นต่างๆ อำนาจของกษัตริย์สูงขึ้นทั้งนี้เพราะกษัตริย์มีฐานะเป็นสมมติเทพและเป็นเทพแห่งพิภพ ซึ่งจะเห็นได้จากศิลาจารึกที่เมืองอัลลาหาบัดที่จารึกว่า พระเจ้าสมุทรคุปต์มีลักษณะเทียบเท่ากับท้าวกุเวร ท้าววรุณ พระอินทร์ และพระยม ซึ่งเป็นจตุโลกบาล ดังนั้นกษัตริย์จึงมีอำนาจเด็ดขาด สาเหตุที่มีความคิดลักษณะนี้ก็มาจากกษัตริย์ต้องทำหน้าที่ปกป้องอินเดียให้พ้นจากภัยของต่างชาติ ดังนั้นจึงพยายามจัดการปกครองภายในประเทศให้มั่นคง เพื่อเตรียมพร้อมป้องกันการรุกรานจากศัตรูภายนอก
ส่วนการขยายอาณาเขต โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 1 ทรงใช้นโยบายการแต่งงานเป็นการแสวงหาอำนาจ กล่าวคือ พระองค์ทรงอภิเษกกับพระธิดาแห่งแคว้นลิจฉวีซึ่งมีอำนาจมากในขณะนั้น และในสมัยพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 ก็เช่นกัน พระองค์ทรงขยายอาณาเขตด้วยการอภิเษกกับพระธิดาของกษัตริย์วากาฎะกัส(Vakatakas) ซึ่งปกครองมัธยมประเทศ ขณะเดียวกันก็ทรงใช้นโยบายการรุกรานด้วยเช่นกัน โดยพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 ได้ส่งกองทัพปราบปรามแคว้นเบงกอลและมณฑลของสกะทางตะวันตก ทำให้ทรงขยายอาณาจักรออกไปอย่างกว้างขวาง โดยทางเหนือขยายไปจนถึงเทือกเขาหิมาลัยเลยไปจนถึงแถบดินแดนลุ่มแม่น้ำนราทา
ด้านสังคม หลักฐานของชาวต่างชาติที่เดินทางไปในอินเดียในยุคนี้ คือ หลวงจีนฟาเหียน (Fahien)ซึ่งท่านจาริกแแกจากจีนในปี ค.ศ.399 อยู่ในอินเดียเป็นเวลา 6 ปี (ค.ศ.405-ค.ศ.411)ในรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 ท่านได้เขียนพรรณนาความเจริญของอินเดียว่าพลเมืองร่ำรวยมีความสุข ตามเมืองต่างๆ มีสุขศาลาหลายแห่ง สร้างโรงทาน มีการแจกอาหาร เครื่องดื่ม และยาให้แก่คนยากจนโดยไม่คิดเงิน ไม่มีคนดื่มสุรา และยาเสพติด ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ การลงโทษทางอาญาไม่ใช้วิธีการลงโทษทางกายแต่จะลงโทษโดยการปรับเป็นเงินแทน และในระยะนี้สังคมได้ฟื้นฟูอารยธรรมของฮินดูที่เสื่อมโทรมมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โมริยะขึ้นมาอีกครั้ง
สำหรับสถานะของสตรีในวรรณะสูงยังมีบทบาทอยู่มาก ในบางเขตสตรีมีบทบาทเด่นในด้านการปกครองและในบางเขตสตรีดำรงตำแหน่งข้าหลวงมณฑล