วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ

      อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุเป็นอารยธรรมที่ถือกำเนิดขึ้นบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุในประเทศอินเดียและปากิสถานในปัจจุบัน  โดยถือว่าอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุเป็นอารยธรรมยุคแรกๆของโลก  กล่าวคือ  เป็นอารยธรรมตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องใสจนถึงสมัยประวัติศาสตร์  สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุช่วงประมาณ 4000 -2500 ปีก่อนคริสตกาล  ซึ่งจากหลักฐานทางโบราณคดีปรากฏให้เห็นว่า  อินเดียมีความเจริญมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในบริเวณเนินเขาในบาลูจิสถานตอนใต้


             เมื่อประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้มีการสำรวจขุดค้นตามโบราณสถานของอินเดียหลายแห่ง  โดยมี เซอร์จอร์น มาร์แชล นักโบราณคดีชาวอังกฤษ  เป็นหัวหน้าคณะในการสำรวจและได้ขุดพบเมืองโบราณที่เมืองฮารัปปา  ในแคว้นปัญจาบทางตะวันตกและเมืองโมเห็นจาดาโร  ในแคว้นซินด์  (ปัจุบันอยู่ในประเทศปากิสถาน)  เมืองทั้งสองอยู่ห่างกันประมาณ  350 ไมล์  เมืองเหล่านี้จัดเป็นสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์อินเดีย  เพราะพบจารึกจำนวนมากแต่ยังไม่มีผู้ใดสามารถอ่านออก  เมืองโบราณทั้งสองเป็นประจักษ์พยานที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญของชนเผ่าที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ  คือพวก ดราวิเดียน  ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองเดิมของอินเดีย

เมืองโมเห็นจาดาโร
           ลักษณะสิ่งก่อสร้างของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ
            
                       อารยธรรม สินธุเกิดขึ้นเมื่อพวกดราวิเดียนได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างมั่นคงในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ  ซึ่งจุดเด่นของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุอยู่ที่การก่อสร้างและการวางผังเมืองอย่าเป็นระบบ  เป็นการแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาและความสามารถของคนดราวิเดียนเป็นอย่างดี
                       สิ่งก่อสร้างและลักษณะการวางผังเมืองของเมืองฮารัปปาและเมืองโมเห็นจาดาโร  พบว่ามีการแบ่งเขตภายในเมืองออกเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน  กล่าวคือ  มีการจัดที่ตั้งอาคารสำคัญๆไว้อย่างเป็นหมวดหมู่    โดยอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุจะมีการก่อสร้างอาคารที่มีฐานแข็งแรงโดยสร้างด้วยอิฐโบกปูน  สิ่งก่อสร้างที่เป็นบ้านพักอาสัยจะเป็นรูปสี่เหลี่ยม  มีการเจาะหน้าต่างและห้องที่มีประตูออกสู่ลานหน้าบ้านได้  ลักษณะเด่นอีกประการของบ้านยุคนี้คือ  ทุกบ้านสร้างบ่อน้ำ  มีห้องน้ำและมีท่อน้ำและท่อระบายน้ำโสโครกออกไปนอกบ้านเพื่อเชื่อมกับท่อระบายน้ำโสโครกขนาดใหญ่
                      
           การดำเนินชีวิตของประชากร

                       ประชากรที่อาศับอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นกสกรรม  เลี้ยงสัตว์  และการผลิตเครื่องใช้ประเภทต่างๆ  นิยมปลูกพืช  เช่นข้าวบาร์เลย์  ข้าวสาลี  หมาก  อินทผลัม  โดยชาวสินธุนิยมบริโภคข้าวสาลีเป็นอาหารหลัก  นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภค เช่น แกะ หมู ปลา ไก่ ส่วนสัตว์เลี้ยงที่นิยมเลี้ยงไว้ใช้งาน  เช่นวัว ควาย แกะ  ช้าง  และอูฐ  นอกจากนี้  แล้วยังมีการประกอบอาชีพค้าขาย  โดยพบหลักฐานจากซากเมืองโบราณถึงการมีร้านเล็กๆ  ริมสองฟากถนน  และยังพบบ้านที่พักอาศัยหลายหลังที่มีขนาดกว้างขวางใหญ่แตกต่างกว่าหลังอื่นๆ  วึ่งสันนิษฐานว่าคงเป็นบ้านของบรรดาพ่อค้าที่มีความมั่งคั่ง
                      ด้านการผลิตเครื่องใช้ประเภทต่างๆ พบว่า  อารยธรรมของชาวสินธุรู้จักการทำเครื่องปั้นดินเผาที่เขียนลวดลายสีดำบนพื้นสีแดง  เครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้พบมากในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ  ตลอดไปจนถึงลุ่มแม่น้ำคงคา  ขณะเดียวกันยังพบร่องรอยความเจริญจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยหินและสำริด  นอกจากนี้ยังพบเครื่องปั่นฝ้าย  แสดงให้เห็นว่ายุคนี้  รู้จักการปั่นฝ้าย  และรู้จักการทอผ้าขึ้นใช้เอง  ซึ่งการแต่งกายของชาวสินธุเป็นแบบง่ายๆ  ด้วยผ้าฝ้ายและหนังสัตว์นำมาห่อหุ้มร่างกาย  โดยชายและหญิงแต่งกายด้วยผ้า 2 ชิ้น  ท่อนล่างเป็นผ้านุ่งแบบโธติ  มีเชือกคาดเอว  ท่อนบนปิดไหล่ขวา  มีการใช้เครื่องประดับ  เช่น  กำไล  แหวน  เครื่องประดับจมูก  ต่างหูและสายสร้อยคอที่ทำจากกระดูกสัตว์และโลหะ  เช่น เงินและทอง  เป็นต้น

           ความเชื่่อ

                      หลักฐานที่ค้นพบจากเมืองโบราณทั้ง 2 แห่ง  เช่น  รูปปั้นดินเผาและรูปสลักต่างๆ  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปเจ้าแม่  ทำให้สันนิษฐานได้ว่า  ชาวสินธุนับถือเทพเจ้าหลายองค์  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเทพสตรีหรือเทพมารดา (Mother Goddess) เช่น  แม่พระธรณี  ซึ่งเป็น "เทพแห่งแผ่นดิน"  เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์  เป็นเทพที่ทำให้แผ่นดินมีความสุขและร่มเย็น  โดยพบรูปเคารพของเทพเจ้าที่เป็นเทพสตรี  เปลือยท่อนบนใส่เครื่องประดับศีรษะและสใมแต่เข็มขัดรอบๆสะโพก  รูปปั้นลักษณะดังกล่าวพบเป็นจำนวนมากในหลายท้องที่  นอกจากเทพสตรีแล้ว  ชาวสินธุยังนับถือเทพเจ้าที่เป็นเพศชายอีกหลายองค์  ซึ่งสันนิษฐานได้จากการพบเหรียญตรา  ซึ่งมีรูปมนุษย์เพศชายนั่งท่าขัดสมาธิรอบล้อมไปด้วยสัตว์ต่างๆ  เช่น  ช้าง เสือ แรด ควาย  สันนิษฐานว่าอาจเป็นต้นกำเนิดของพระศิวะในศาสนาฮินดู  นอกจากนี้ยังค้นพบดวงตาซึ่งทำมาจากหินอ่อนจำนวนมาก  บนดวงตาสลักรูปสัตว์ชนิดต่างๆ  โดยเฉพาะวัว  ทำให้สันนิษฐานได้ว่า  ความเชื่อในศาสนาของชาวสินธุอาจมีความเกี่ยวพันกับธรรมชาติ  การนับถือภูติผีปีศาจและเทพเจ้าที่สิงสถิตอยู่ในธรรมชาติ  เช่น  ต้นไม้  ลำธาร  ภูเขา  ฝน  ลม  และน้ำ  เป็นต้น
                    ขณะเดียวกันยังพบว่า  อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุมีการติดต่อสัมพันธ์กับอารยธรรมเมโสโปเตเมีย  เนื่องจากคนในลุ่มแม่น้ำสินธุได้มีการติดต่อกับคนในเมโสโปเตเมีย  ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนของคนทั้ง 2 อารยธรรมกล่าวคือได้พบเครื่องปั้นดินเผาที่มีลักษณะคล้ายกับที่พบในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุในบริเวณลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติสเป็นการแสดงให้เห็นว่าได้มีการนำเครื่องปั้นดินเผาที่ประดิษฐ์ขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุไปแลกเปลี่ยนกับคนในลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส  และยังได้นำสิ่งของจากลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติสเข้ามาในแถบแม่น้ำสินธุ  เช่น  เครื่องประดับ  ดวงตราที่เป็นรูปทรงกระบอกและรูปสี่เหลี่ยม  ที่มีลวดลายเป็นรูปคนและสัตว์  และมีการจารึกที่ยังตีความหมายไม่ได้อีกด้วย
                   ต่อมาเมื่อประมาณ 1500 ปีก่อนคริสตกาล  อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุเริ่มเสื่อมลง  ซึ่งจากการขุดค้นทางด้านโบราณคดีทำให้สันนิษฐานว่า  ความเสื่อมของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุอาจเนื่องจากถูกภัยธรรมชาติ  เช่น  น้ำท่วมหรือโรคระบาด  ทั้งนี้เพราะจากการขุดพบกองกระดูกของมนุษย์จำนวนมากที่ทับถมกัน  ขณะเดียวกันยังเป็นช่วงเวลาที่พวกอารยันได้ค่อยๆ  แพร่จากภาคเหนือไปทางตะวันออกและลงไปทางใต้อย่างช้าๆ  เข้าไปรุกรานทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียและขับไล่พวกดราวิเดียนถอยร่นไปทางทิศตะวันออกแถบลุ่มแม่น้ำคงคา  ซึ่งบางกลุ่มได้ปะปนทางสายโลหิตกับพวกดราวิเดียนจนทำให้เกิดกลุ่มชนกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า  พวกฮินดู
                    

1 ความคิดเห็น:

  1. สวยจังเลยนะครับ สวยมาๆๆๆ สวยๆๆ ที่ผมเคยเจอมาครับ

    ตอบลบ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.